พืชรังมด (Myrmecophytic plants)
การอาศัยอยู่ของมดภายในส่วนต่างๆของพืชเป็นตามปกติทั่วๆไปหาพบได้ค่อนข้างยากสำหรับในป่าเขตอบอุ่น แต่สำหรับในป่าดงดิบเขตร้อนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับพบว่ามีพืชในกลุ่มนี้อยู่หลายชนิดด้วยกันที่ได้ปรับตัวให้มดอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (Mutualism) และตัวพืชเองได้มีการปรับลักษณะทางสัณฐานวิทยา เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อการอาศัยอยู่ร่วมกันในลักษณะดังกล่าวพืชจึงได้เปลี่ยนแปลงลักษณะทางสัณฐานวิทยาของส่วนต่างๆให้มีความเฉพาะเกิดขึ้นที่จะล่อให้มดมาสร้างผลประโยชน์ให้แก่พืชได้ ขณะที่มดเข้ามาอาศัยอยู่ก็พยายามเข้ามาและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่ได้มาจากพืชอีกด้านหนึ่ง ในส่วนอวัยวะของพืชนั้นพบว่ามีอยู่หลายๆ ส่วนที่มดเข้ามาอาศัยไม่ว่าจะเป็นส่วนของใบ (leaves) กาบรองดอก (bracts or spaths) ไส้แกนกลางลำต้นหรือ กิ่ง (pith) หัว (tubers, corms or bulbs) หรือ เหง้า (rhizomes) โดยมดจะเข้ามาอาศัยอยู่ในส่วนใดของพืชนั้นขึ้นอยู่ชนิดของพืชและชนิดของมดด้วย พืชที่มีการปรับตัวให้มดเข้ามาอยู่ภายในส่วนต่างๆ พืชนั้น เราสามารถเรียกพืชที่มีการปรับตัวในลักษณะนี้ว่า พืชมด หรือ พืชรังมด (Myrmecophytic plants) สำหรับในกรณีที่พืชได้สร้างใบที่มีกับดัก (leaf trap)เพื่อจับมดแล้วนำไปย่อยสลายด้วยน้ำย่อยและดูดซึมธาตุอาหารจากซากแมลงที่พบในพืชสกุลต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes) และสกุลต้นหยาดน้ำค้าง (Drosera) ไม่จัดเป็นพืชในกลุ่มนี้แต่เป็นกลุ่มพืชที่กินแมลง (Insectivous plants)แทน
ความหลากชนิดของกลุ่มพืชรังมด ในเขตร้อนชื้นอย่างในบ้านเราสามารถพบได้ทั้งในกลุ่มพืชดอก (Flowering plant) และกลุ่มพืชชั้นต่ำอย่างเฟิร์น (Ferns)หรือ ไลเคนส์ (Lichens) แต่อย่างไรก็ตามสามารถแบ่งออกตามส่วนของพืชที่มดเข้ามาอาศัยอยู่ได้เป็น ๔ กลุ่มด้วยกันคือ
๑. กลุ่มพืชที่มีมดเข้าอาศัยอยู่ในไส้แกนกลางของลำต้น
ไส้แกนกลางของลำต้น หรือกิ่ง ซึ่งเรียกว่า pith พบได้ในไม้ยืนต้นบางชนิดตั้งแต่ช่วงระยะที่ต้นไม่เจริญเติบโตมากนัก (juvenile stage)ไปจนโตเต็มที่ (mature stage) มีส่วนของไส้แกนกลางลำต้น หรือกิ่งนั้นพบว่าอาจมีรูกลวงปรากฏอยู่ตั้งแต่ลำต้นที่ไม่โตนัก หรืออาจเกิดภายหลังเมื่อลำต้นแก่ส่วนไส้แกนกลางก็สลายตัวไปแล้วจะมีมดเข้าไปอาศัยช่องว่างดังกล่าวไม่การเข้าไปสร้างรัง หรือ ทำกิจกรรมอื่นๆ ตัวอย่างพืชที่มีการปรับตัวให้มดเข้าไปอาศัยอยู่ในลักษณะนี้ เช่น พรรณไม้สกุล เต้าหลวง และลอขาว (Macaranga) และพรรณไม้บางชนิดของสกุลไม้ตะพง (Endospermum) ทั้งสองสกุลต่างก็เป็นสมาชิกของวงศ์ Euphorbiaceae อันเป็นวงศ์เดียวกับวงศ์ ไม้ยางพารา ละหุ่ง และมะไฟ ในส่วนของชนิดมดที่พบในพรรณไม้ทั้งสองสกุลก็คือ มดแกนไส้เต้า (Crematogaster borneensis var. macarangae) ขณะเดียวกันนั้นมดชนิดนี้มีการเลี้ยงเพลี้ยเกล็ดหอย ( Coccus spp.) (Whitmore, 1985) เพื่อเลี้ยงเพลี้ยให้สร้างเม็ดแป้งและน้ำตาลแก่มดอีกทอดหนึ่งหลังจากที่เพลี้ยดูดน้ำเลี้ยงจากต้นไม้ที่อาศัยอยู่ เมื่อกล่าวถึงสมาชิกของพรรณไม้สกุลเต้าหลวง ส่วนใหญ่เป็นไม้เบิกนำและไม้โตเร็วที่ขึ้นกระจายอยู่ในป่าดงดิบทั่วไปพบแทบทุกภาคของไทย โดยที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีการกระจายชนิดมากที่สุด ในขณะที่พรรณไม้สกุลไม้ตะพงที่พบมดอาศัยอยู่ในไส้กลางลำต้นชนิดที่พบก็คือ ไม้ตะพงมด (Endospermum formicarum) เป็นไม้เบิกนำเช่นกัน แต่เป็นชนิดที่ไม่ได้พบอยู่ในบ้านเรา พบกระจายพันธุ์อยู่ในบริเวณหมู่เกาะโซโลมอน และประเทศปาปัว นิวกิเนีย เนื่องจากป่าดิบชื้นที่มีความชุ่มชื้นสูงและตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรที่ร้อนและชื้นกว่าบ้านเรา
๒. กลุ่มพืชที่มีมดเข้าอาศัยอยู่ในกาบรองช่อดอก
เท่าที่พบในประเทศไทยพืชกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นหวายในสกุลหวายเดา (Korthalsia) และหวายสกุลหวายเคี่ยม (Daemonorops)โดยที่หวายทั้งสองสกุลมีกาบช่อดอกเป็นรูปเรือติดกับกาบใบแน่นจนกระทั่งผลแก่ ทำให้เหมาะสมแก่มดต่อการเข้าไปอาศัยอยู่ภายในกาบดังกล่าว ตัวอย่างหวายที่พบในบ้านเรา เช่นหวายเดาหนู (Korthalsia rigida) หวายเดาใหญ่(K. grandis) หวายโสม (Daemonorops schmidtiana) เป็นต้น
๓. กลุ่มพืชที่มีมดเข้าอาศัยอยู่ในหัวหรือ เหง้า
หัว ในที่นี้มีลักษณะเป็นปมโคนลำต้นได้มีการพองตัวคล้ายหัวมันเทศและเหง้า อวบน้ำเนื่องจากพืชบางชนิดได้ปรับตัวไปเป็นพืชอิงอาศัยที่ขึ้นอยู่ตามคาคบไม้ยืนต้นขนาดใหญ่หรือ ขึ้นอยู่ตามก้อนหินที่มีทนแล้งได้ดีทำให้ลำต้นหรือหัวมีการเก็บน้ำไว้มากจนมีลักษะอวบน้ำเป็นปม หรือก้อนและเมื่อมดเจาะรูเข้าไปอาศัยภายในสามารถเจาะรูได้ง่ายจนทำให้เกิดมีรูพรุนจำนวนมากซึ่งรูพรุนดังกล่าวเป็นการช่วยระบายอากาศและยังเป็นสร้างพื้นที่แก่การสร้างรังอีกด้วย อันเป็นสาเหตุที่สำคัญให้มีมดมาอาศัยอยู่ภายในหัวดังกล่าว กลุ่มพืชที่มีลักษณะเช่นนี้สามารถพบได้ทั้งในกลุ่มพืชดอกเช่นสกุลหัวร้อยรู (Hydnophytum) และสกุลหัวผีมด (Myrmecodia) ทั้งสองสกุลเป็นพืชในวงศ์ Rubiaceae อันเป็นวงศ์เดียวกับ ดอกเข็ม และกระทุ่ม นอกจากนี้ยังพบในกลุ่มเฟิร์นบางชนิดของ สกุลกูดหัว (Lecanopteris; L. carnosa ) สกุลกระแต่ไต่ไม้ (Drynaria)และหัวว่าว (Polypodium sinuosum) (Holttum, 1969) เป็นเฟิร์นที่มีเหง้าอวบน้ำและมีรูพรุนในเหง้าดังกล่าวทำให้มดเข้าไปอาศัยอยู่เช่นเดียวกับหัวร้อยรู
๔. กลุ่มพืชที่มีมดเข้าอาศัยอยู่ในใบกระเปาะ
ใบกระเปาะเกิดจากการม้วนตัวของแผ่นใบจนทำให้มีรูปร่างคล้ายหัวใจแต่ภายในรูกลวงที่มีลักษณะคล้ายโพรงขนาดเล็ก และมีการแตกรากอยู่ภายในด้วย ลักษณะเช่นพบในพืชอิงอาศัยสกุล จุกโรหินี หรือ ต้นเดปกระเป๋า (Dischidia)และพืชบางชนิดในสกุลนมตำเลีย (Hoya) ทั้งสองสกุลเป็นพืชอิงอาศัยในวงศ์Asclepiadaceae เช่นเดียวกับดอกรักที่ใช้ร้อยมาลัย ความหลากชนิดของพืชทั้งสองสกุล ที่พบในป่าดงดิบของบ้านเราคือ ต้นจุกโรหินี (Dischidia rafflesiana) เป็นพืชชนิดนี้ได้ถูกบัญญัติติชื่อโดยนักพฤกษาศาสตร์ชื่อ Wallich เพื่อตั้งให้เป็นเกียรติแก่ หมอราฟเฟิล (Raffle)ที่ได้เก็บตัวอย่างพืชไปศึกษาเป็นบุคคลแรกที่ได้เก็บตัวอย่างพืชชนิดดังกล่าวมาศึกษาจากพื้นที่ศึกษาในประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีชนิดอื่นที่พบมดอาศัยอยู่ในใบกระเปาะของต้น Dischidia coccinea, D. gaudichaudii และ เกล็ดนาคราช (D. major) ทั้งสามชนิดพบอยู่ในคาบสมุทรมาลายาของประเทศมาเลเซีย ที่มีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ที่เกิดขึ้นแบบ Mutualism เหมือนกัน
ความหลากชนิดของมดที่พบในพืชรังมด
ความหลากชนิดของมดที่อาศัยอยู่ในพืชรังมด ข้อมูลจากการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่มีการศึกษากันเท่าที่ควร แต่ก็มีข้อมูลเพียงเล็กน้อยที่แสดงให้เห็นว่ามดที่อาศัยอยู่ในพืชแต่ละกลุ่มมีความเฉพาะต่อชนิดพืชที่ชนิดอาศัยอยู่นั้น ดังตัวอย่างของในสกุลมดแกนไส้เต้า (Crematogaster spp.) ที่พบอาศัยอยู่ในแกนไส้กลางของไม้สกุลเต้าหลวง และพบมดคันร้อนสกุล ฟิลิดริส (Philidris spp.; Family Dolichoderinae) ในใบกระเปาของต้นจุกโรหินี สำหรับชนิดมดที่อาศัยอยู่ในพืชชนิดอื่นๆ ยังไม่มีข้อมูลที่ได้จากการศึกษา
การดูดซึมธาตุของพืชรังมด
สำหรับกรณีศึกษาในใบกระเปาะของต้นจุกโรหินี พบว่ามดในสกุลฟิลิดริสที่อาศัยอยู่ร่วมกันนั้น ได้ทำการขนซากพืชซากสัตว์มาสะสมอยู่ในใบกระเปาะที่มีรูกลวง ต้นจุกโรหินีได้ดูดซึมเอาธาตุอาหารที่ได้จากมดไปใช้ในการเจริญเติบโตแก่พืชไปด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุอาหารกลุ่มไนโตรเจน ดังผลจากการศึกษาของ Treseder และคณะ (1995)เกี่ยวกับการดูดซึมธาตุอาหารของต้นจุกโรหินีจากมดในสกุลฟิลิดริส ที่ซาราวัคของประเทศมาเลเซียพบว่าต้นจุกโรหินี ได้รับธาตุไนโตรเจนสูง ถึง 29 % และธาตุคาร์บอนสูงถึง 39% โดยวิธีการวัดด้วยธาตุไอโซโทปของทั้งสองธาตุและในตรงกันข้ามมดก็ได้ประโยชน์จากพืชในแง่ของที่อยู่อาศัยและหลบภัย นับว่าเป็นการเกื้อกูลระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งสองที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างอัศจรรย์
เอกสารอ้างอิง
Holttum, R.E.. 1969. Plant life in Malaya. Longman, Singapore. 253 pp.
Treseder, K. K., D. W. Davidson and J. R. Ehleringer. 1995. Absorbtion of ant-provided carbon dioxide and nitrogen by a tropical epiphyte. Nature 375, 137-139.
Whitmore, T.C. 1985. Tropical rain forest of the Far East. Clarendon Press, Oxford. 352 pp.
เพื่มเติมได้ที่
http://www.forest.ku.ac.th/forestbiology/insect/myrmecophytic.htm